รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.68 หมื่นล้านบาท มีความคืบหน้าเกือบ 1% เป็นไปตามแผน ปัจจุบัน รฟท. กำลังเร่งรัดทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างเพื่อเข้าดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กิโลเมตร (กม.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ผู้รับจ้าง ไปแล้วประมาณ 30% ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า ยูนิค ผู้รับจ้างแล้วประมาณ 10%
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การดำเนินงานของผู้รับจ้างทั้ง 2 สัญญาในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเคลียร์พื้นที่ และการทำงานขั้นพื้นฐาน อาทิ งานสำรวจ การเจาะดิน เจาะหิน รวมทั้งลงพื้นที่มวลชนสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์งานก่อสร้างที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อสอบถามถึงผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น เสียง และฝุ่น ในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับการก่อสร้าง และประชาสัมพันธ์เรื่องที่มีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างทางรถไฟ เข้าไปลักลอบตัดต้นไม้ในเขตพื้นที่แนวทางก่อสร้างทางรถไฟ ให้กับหน่วยงานที่อยู่บริเวณเขตพื้นที่ก่อสร้างได้รับทราบ และเข้าใจมาตรการด้านต่างๆ ของโครงการฯ ทั้งนี้ งานสัญญาที่ 1 เริ่มมีการทำเสาเข็มเจาะแล้วด้วย เพื่อเตรียมทำสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass)
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ผู้รับจ้างทั้ง 2สัญญา ยังคงต้องการให้ รฟท. ส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างให้มากกว่านี้ เพราะพื้นที่ที่ส่งมอบมานั้น มีแปลงที่ยังเข้าไม่ได้คั่นอยู่ตรงกลาง จึงทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่รับมอบมาได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสาเหตุที่ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้านั้น ส่วนหนึ่งในช่วงแรกติดปัญหาการรังวัดที่ดิน เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อที่ดินตรงกับเนื้อที่ดินในโฉนด มีความล่าช้า เพราะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานเพียงแค่ 1 ชุด ขณะที่โครงการฯ มีระยะทางถึง 355 กม. แต่ปัจจุบันแก้ไขปัญหาแล้ว โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาปฏิบัติงานในส่วนนี้เพิ่มเติม จึงคาดว่าการรังวัดที่ดิน และออกรูปแผนที่กระดาษบาง (ร.ว.9) จะแล้วเสร็จภายในปี 66
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับโครงการนี้มีพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 8,000 แปลง ประมาณ 1.5 หมื่นไร่ ใช้งบประมาณในการเวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และพร้อมเปิดให้บริการประมาณปี 70 เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งยังสามารถรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและผ่านแดน ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 30 สถานี (18 สถานี 12 ป้ายหยุดรถ) และ 1 ชุมทางรถไฟ ทางวิ่งมีทั้งทางระดับดิน และทางยกระดับ มีลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก จ.ขอนแก่น สำหรับซ่อมวาระเบา และซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ มีการออกแบบสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) 81 แห่ง และทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 245 แห่ง. คำพูดจาก ทดลองปั่นสล็อต